เคยตั้งคำถามกันหรือไม่ว่า ถ้าการที่ “เด็กมีปัญหาสุขภาพ” ถูกนิยามให้กลายเป็นความผิดที่ต้องนำไปไต่สวนหาผู้รับผิดในชั้นศาล ใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ เด็ก หรือ ผู้ปกครอง หรือ โรงเรียน หรือ เพื่อน หรือ ร้านค้า หรือ ใครกันแน่ที่ต้องมารับความผิดกับเรื่องนี้
บ้านไหนเป็นแบบนี้บ้าง? พอลูกอยู่นิ่งๆ กับหน้าจอแล้วคิดว่าเด็กมีสมาธิดี ดีกว่าลูกวิ่งซนให้ปวดหัว ขอแค่ลูกกินเก่งๆ ตัวจ้ำม่ำ ก็ดูแข็งแรงดี กว่ากินน้อยผอมโซอีก ลูกจะนอนแล้วตื่นเวลาไหนก็ได้หมด เอาที่ลูกได้นอนเยอะๆ ก็พอ
ถึงเวลาแล้วที่ “พ่อแม่” ต้องทวงคืน “ความสมดุล” ในชีวิต ให้กับเด็กร่วมกัน ด้วยการมาเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของลูกให้เป็น “เด็กสมดุล” ด้วยการร่วมท้าทายให้พ่อแม่ หา “กลวิธีต่างๆ” มาชักชวนให้ลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลักสามเหลี่ยมสมดุล “วิ่งเล่น กินดี นอนพอ” ผ่านคลิปวิดีโอที่ใช้ชื่อว่า ‘แกล้งลูก’ ที่ต้องการสื่อสารจุดประกายให้ผู้ปกครองลุกขึ้นมาชวนลูกวิ่งเล่น เตรียมอาหารบนโต๊ะกินข้าวให้ถูกหลักโภชนาการ และรู้เวลานอนหลับพักผ่อนที่ถูกต้องเพื่อที่จะทำให้เด็กเติบโตสมวัยและสมดุล
การกินเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเจริญเติบโตของเด็กๆ แต่ “การกินที่ดี” นั้นต้องไม่ใช่แค่ “กินอะไรก็ได้” เพราะถ้าอยากให้เด็กเจริญเติบโตอย่างดี มีพัฒนาการสมวัย ร่างกายแข็งแรง ต้องเป็นการกินที่ได้สารอาหารครบถ้วน ในปริมาณและสัดส่วนอาหารที่เหมาะสมด้วย
เด็กๆ กับการวิ่งเล่นออกกำลังกายนั้นเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้เด็กๆ ได้ออกไปวิ่งเล่นน้อยลง เด็กบางคนต้องเรียนเยอะจนไม่มีเวลาว่าง บางคนเสียเวลาไปกับการเดินทางเพราะรถติดหนัก หรือบางคนก็ไม่สนใจการออกไปวิ่งเล่นเพราะสนุกกับโทรศัพท์มือถือมากกว่า และโดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องเว้นระยะห่าง งดกิจกรรมนอกบ้าน และสวมใส่หน้ากากอนามัย ก็ยิ่งทำให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นออกกำลังกายลดลง ในขณะที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้น