บ้านปลอดบุหรี่

เรื่องจริงของคุณปู่ที่สู้เพื่อหลาน แม้ต้องทนทรมานจากพิษภัยบุหรี่

3438
เรื่องจริงของคุณปู่ที่สู้เพื่อหลาน แม้ต้องทนทรมานจากพิษภัยบุหรี่

“เราอยากอุ้มหลาน ตอนนั้นมีหลานเล็กๆ เขาไม่ยอมให้อุ้มบอกว่าเหม็นบุหรี่ คนเป็นตาเป็นยายมันเสียใจนะ ที่อุ้มหลานไม่ได้”

คุณสมศักดิ์ นฤเบศร์ไกรศรีห์ ปัจจุบันอายุ 81 ปี เล่าสาเหตุที่เลิกบุหรี่ตอนอายุ 53 ปี ด้วยเสียงสั่นเครือซึ่งสะเทือนไปถึงใจคนที่ได้ยิน แน่นอน การเลิกบุหรี่นั้นไม่ง่าย เพราะคุณลุงเริ่มสูบตั้งแต่อายุ 16 ปี และสูบมาตลอดเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเฉลี่ยวันละหนึ่งถึงซองครึ่ง แต่ด้วยความรักที่มีต่อหลาน ทำให้ตัดสินใจหักดิบ เลิกบุหรี่จนสำเร็จ ในที่สุดครอบครัวนี้จึงกลับมามีความสุขอีกครั้ง

แต่น่าเสียดาย ช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นไม่ได้ยืนยาว เพราะบุหรี่ไม่เคยปราณีใครง่าย ๆ

“คุณพ่อเลิกบุหรี่มาเกือบ 30 ปีแล้วค่ะ ดังนั้นพอคุณหมอวินิจฉัยว่า คุณพ่อเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ทุกคนเลยตกใจ และไม่คิดว่าจะเป็นไปได้”

คุณวิไลลักษณ์ ภัธธนวราภุญช์ (ลูกสาว) เล่าว่า แม้คุณพ่อของเธอจะไม่ได้สูบบุหรี่แล้ว แต่ผู้คนรอบตัวในชีวิตประจำวันของคุณพ่อล้วนสูบบุหรี่ ทำให้เธอได้ยินคำว่า บุหรี่มือสอง เป็นครั้งแรก เมื่อรู้ว่าต้นเหตุของโรคร้ายที่คุกคามพ่อของเธอคือ ควันบุหรี่จากคนอื่นที่สูบ ซึ่งคุณพ่อของเธอสูดเข้าไปเป็นเวลายาวนาน

“อาการมันทรมานเหมือนคนจมน้ำ”

คุณลุงสมศักดิ์อธิบายความร้ายกาจของโรคถุงลมโป่งพองด้วยน้ำเสียงแหบพร่า และฟังยากในบางช่วง เนื่องจากหายใจไม่ค่อยออก นับถึงวันนี้ชายชราตกอยู่ในอาการเหมือนคนจมน้ำมากว่า 3 ปีแล้ว

สำหรับการดูแลรักษา ในระยะแรกสามารถทำได้ด้วยการกินยา แต่เมื่ออาการเริ่มเป็นหนักขึ้นคนไข้จะเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยขึ้น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และกินยาสเตียรอยด์ตลอดเวลาในที่สุด

ทุกครั้งที่ผู้ป่วยมีเสมหะ หายใจติดขัด คนดูแลก็ต้องคอยพ่นยาและดูแลอย่างใกล้ชิด บางครั้งในเวลานอนผู้ป่วยอาจหายใจไม่ออกจนนอนไม่ได้ ส่งผลให้คนดูแลต้องเป็นทุกข์จนนอนไม่ได้เช่นกัน

“โรคถุงลมโป่งพอง ไม่มียารักษา มีแต่ทรงกับทรุด” นี่คือความจริงอันน่ากลัวที่ รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว. ต้องการเตือนใครก็ตามที่กำลังสูบบุหรี่

ยิ่งไปกว่านั้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลคนไข้โรคถุงลมโป่งพองก็สูงมากอีกด้วย ค่ายาสำหรับโรคนี้ ไม่รวมค่าห้อง ค่าผู้ดูแล ตกเดือนละประมาณ 3,000 บาท ลองคิดดูว่า ถ้าต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ไปเป็นเวลาอีกหลายสิบปี จะมากขนาดไหน

แต่เรื่องนี้ยังมีทางป้องกันได้ โดย รศ.นพ.สุทัศน์ได้บอกว่า “อย่างเดียวที่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคถุงลมโป่งพองได้ คือต้องดับที่เหตุ ซึ่งก็คือ เลิกบุหรี่ เสียแต่วันนี้”

ดังนั้นหากใครอยากเลิกบุหรี่ คุณหมอได้แนะนำหลัก 4 ล. ที่ช่วยเลิกบุหรี่ อันได้แก่

1. เลือกวัน เลือกวันที่สำคัญกับคุณ ไม่ว่าจะเป็นวันเกิด วันปีใหม่ วันครบรอบแต่งงาน เป็นต้น แล้วปักธงให้เป็นวันดีเดย์ในการเลิกบุหรี่

2. ลั่นวาจา ประกาศเจตนารมณ์ของตัวเองกับคนรอบข้างโดยเฉพาะคนที่มีความสำคัญกับชีวิตเรา เพื่อเราจะได้รับกำลังใจระหว่างการเลิก

3. ลาอุปกรณ์ ทิ้งบุหรี่ ที่เขี่ยบุหรี่ ไฟแช็ก ให้หมด เพื่อเป็นการย้ำกับตัวเองว่า เราจะไม่กลับมาที่เดิมอีก

4. ลงมือแบบมีแผนการ คิดวิธีรับมือกับอาการอยากบุหรี่ไว้ล่วงหน้า เพราะถ้าไปคิดวางแผนตอนรู้สึกอยาก อาจจะคิดไม่ออก เช่น ทำตัวให้ยุ่งตลอดเวลา ออกกำลังกาย หรือแม้แต่ใช้ตัวช่วยอย่างสมุนไพรหญ้าดอกขาว หรือนวดกดจุด ที่จะช่วยลดอาการอยากบุหรี่ได้

แม้การเลิกบุหรี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเพียงคุณมีเป้าหมาย ไม่ว่าจะเพื่อสุขภาพของตนเอง หรือเพื่อคนที่คุณรัก รับรองว่า สำเร็จแน่นอน

คิดเลิกบุหรี่ อย่ารอช้า โทรฟรี. 1600

อ่านเพิ่มเติม