ภาพคุณแม่วรรณเพ็ญ ยิ้มปิ่น ที่กำลังดูแลลูกสาว น้องไบรท์-ด.ญ.ปัทมวรรณ ยิ้มปิ่น ด้วยความอาทรอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย กับภาพน้องไบรท์ที่ดูเป็นเด็กอารมณ์ดี มีแววตาเป็นประกายสนใจสิ่งรอบตัว ดูแล้วก็เหมือนภาพครอบครัวแสนสุขที่เราพบเห็นได้ทั่วไป แต่ในความเป็นจริงนั้น ใครจะรู้ว่า ครอบครัวนี้กำลังถูกหมอกควันของโรคร้ายรุมเร้าตัวลูกสาวอยู่ ซึ่งสาเหตุแห่งความทุกข์นี้ เกิดจากความไม่เข้าใจถึงพิษของควันบุหรี่ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเด็กน้อยอย่างร้ายกาจ
"แม่มีลูก 3 คนค่ะ คนโตอายุ 19 ปี สุขภาพแข็งแรงดี คนที่สองอายุ 12 ปี เดิมอยู่ชุมชนก่อสร้างแต่หมอบอกว่าสิ่งแวดล้อมไม่ดี พอเข้าโรงเรียน แม่เลยเอากลับไปอยู่บ้านนอกกับยาย ตอนนี้ก็เลยแข็งแรงดี แต่คนที่สามคือน้องไบรท์อายุ 4 ขวบ ตอนตั้งท้องแม่อยู่ในแคมป์ก่อสร้าง ด้วยความเคยชินก็ไม่ได้ป้องกันอะไร คลอดออกมาใหม่ ๆ น้องก็ปกติดี มาเริ่มป่วยตอนอายุ 2 เดือนครึ่ง ป่วยหลายโรค ทั้งติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ชัก ไข้สูง มีโรคชักทางสมอง ต่อมาก็ปอดติดเชื้ออักเสบขั้นเรื้อรัง หลอดลมติดเชื้อ แล้วมาเจอหัวใจรั่ว ตามด้วยหัวใจโต ทุกวันนี้น้องต้องกินยาสารพัด วันนึงไม่ต่ำกว่า 10 อย่างต่อมื้อ ยิ่งถ้าเจอฝุ่นหรือควันบุหรี่ น้องจะหายใจไม่ออก หอบ ถึงขั้นปอดติดเชื้อ เคยเป็นหนักสุดหายใจเองไม่ได้ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ อยู่โรงพยาบาลนานเป็นเดือน ตอนนี้อาการทรง ๆ หมอไม่ได้ให้ความหวังอะไร ต้องรักษากันไปวันต่อวัน”
พอถามถึงสาเหตุ คุณแม่เล่าว่า “คุณหมอบอกว่า สภาพแวดล้อมเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคปอดและหลอดลม”
อย่างไรก็ตามด้วยความจำเป็นของคนหาเช้ากินค่ำที่ต้องอยู่ในชุมชนก่อสร้าง สภาพแวดล้อมควบคุมยาก มีทั้งควันบุหรี่ลอยตามลม หรือควันบุหรี่ที่ติดตามผิวหนัง เส้นผมและเสื้อผ้า แม้แต่ห้องพักติดกันในแคมป์คนงานก็สูบบุหรี่
“เราก็ทำได้แค่บอกเขาให้ไปสูบไกล ๆ หน่อย บางทีเขาก็ดับให้ แล้วเราก็ต้องรีบอุ้มน้องเดินหนีไปเลย ส่วนพ่อของไบรท์ก็สูบบุหรี่ แม่ก็พยายามบอกให้เขาเลิก พ่อแข็งแรงดี แต่พอเห็นลูกป่วยบ่อย เขาก็ไม่มาดูดใกล้ลูก จะล้างหน้า แปรงฟันก่อนมาหาลูก แล้วก็พยายามลดบุหรี่ แต่ยังเลิกไม่ได้ ก็ค่อยๆ ลดทีละน้อย" คุณแม่วรรณเพ็ญบอกพร้อมรอยยิ้มจาง ๆ ก่อนจะทิ้งท้ายถึงลูกคนนี้ว่า
“หวังให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ก็พอ แค่เขาไปโรงเรียนได้ แม่ก็ดีใจแล้ว”
จากสิ่งที่ครอบครัว 'ยิ้มปิ่น' ต้องเผชิญ คงพอทำให้เห็นว่า เรื่องนี้สังคมต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งคนสูบบุหรี่เองที่ต้องระวังถึงผลกระทบจากควันบุหรี่ที่คนอื่นจะได้รับ รวมไปถึงการจัดการในระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่สูบบุหรี่อย่างเป็นสัดเป็นส่วน ไม่ปล่อยให้หน้าบ้านหรือหลังบ้านของใครเป็นที่สูบบุหรี่อีกต่อไป เพื่อที่นับแต่นี้ควันร้ายจะไม่ไปพรากอนาคตอันสดใสของเด็กน้อยคนไหนได้อีก
หากคุณอยากเลิกบุหรี่เพื่อคนที่คุณรัก สามารถโทร.ปรึกษาขอคำแนะนำและข้อมูลฟรีได้ที่ 1600 หรือ www.thailandquitline.or.th/site/