บ้านปลอดบุหรี่

ขออภัย ที่นี่ควันบุหรี่ห้ามเข้า

538

มีคนสูบบุหรี่คนใดบ้าง ที่คบแต่เพื่อนที่สูบบุหรี่

และมีคนไม่สูบบุหรี่คนใดบ้าง ที่ไม่มีเพื่อนสูบบุหรี่เลย เชื่อว่า ไม่มี

แล้วที่ผ่านมา ทุกคนทำอย่างไร หากอยากสูบบุหรี่ ตอนอยู่กับเพื่อนที่ไม่สูบ หรือดันเป็นคนที่ไม่สูบ แต่ไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนนักสูบ

แน่นอน เพื่อนย่อมถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน คนสูบก็คงอดทน พยายามไม่สูบด้วยความเห็นใจเพื่อน ส่วนคนไม่สูบที่อยากตามใจเพื่อนนักสูบ ก็อาจลุกออกไปยืดเส้นยืดสาย ขณะที่เพื่อน ๆ กำลังสูบ

ง่าย ๆ คุยกันได้

แต่พอมาในระดับสังคม การใช้วิธีง่าย ๆ กลับไม่ง่ายขึ้นมา เพราะเมื่อเป็นเรื่องของคนจำนวนมาก หลากความคิด หลายความเข้าใจ การถ้อยทีถ้อยอาศัยใช่ว่าจะลงเอยด้วยดีเสมอไป ดังนั้นสังคมจึงจำเป็นต้องมีข้อตกลงเพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ “กฎหมาย” นั่นเอง

โดยทั่วไปกฎหมายจะถูกกำหนดจากฉันทามติของคนส่วนใหญ่ในสังคม อย่างประเทศไทยซึ่งมีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่ประมาณ 10.7 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดเกือบ 70 ล้านคน (ผลการสำรวจโดยสำนักสถิติแห่งชาติ พศ.2560) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เนื้อหาของกฎหมายจะหันมองฝั่งคนไม่สูบ และหยิบยื่นข้อจำกัดให้กับฝ่ายคนสูบมากกว่า

ด้วยเหตุนี้คำว่า “เขตปลอดบุหรี่” จึงเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดเขตปลอดบุหรี่ไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยเราจะไม่สามารถสูบบุหรี่ได้ในสถานที่สาธารณะต่างๆที่ผู้คนใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น สถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาล สถานศึกษา โรงเรียน ยานพาหนะสาธารณะ หรือแม้แต่วัดวาอาราม

ซึ่งเราจะพบว่า แท้จริงเรามีเขตปลอดบุหรี่มากมาย แต่อาจไม่เคยรู้มาก่อน ลองมาดู กันว่า มีสถานที่อะไรบ้าง

สำหรับคนที่สนใจกีฬา รู้ไหมว่า สถานที่นั่งดูกีฬา สนามซ้อม หรือแม้แต่สนามแข่งกีฬาทุกประเภทไม่ว่าจะแข่งในร่มหรือกลางแจ้ง ล้วนเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งนั้น

คนที่ชอบการสังสรรค์ คุณไม่สามารถสูบบุหรี่ในร้านคาราโอเกะ รวมถึงสถานที่จัดเลี้ยงทั้งหมด

นักช้อป นักกินทั้งหลาย ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดเปิดท้าย ถนนคนเดิน แหล่งรวมสินค้าของนัก ช็อป ตลาดกลางคืน ร้านอาหาร ร้านกาแฟเครื่องดื่ม ทั้งที่มีและไม่มีแอร์ล้วนสูบบุหรี่ไม่ได้

สายธรรมะ เข้าวัดทำบุญ ขอให้รู้ไว้ว่า ศาสนสถานของทุก ๆ ศาสนาไม่อาจสูบบุหรี่ได้เช่นกัน

ส่วนครอบครัวที่มีลูก การไปตามสถานที่สาธารณะ ท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ แล้วมีควันบุหรี่ลอยมาหาลูกๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ทรมานใจคนเป็นพ่อแม่ยิ่งนัก ก็ขอให้อุ่นใจไว้ว่ากฎหมายได้คุ้มครองให้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ไม่ว่าจะเป็นสวนสัตว์ สวนสนุก สวนน้ำ สวนสาธารณะ ห้องน้ำสาธารณะ รวมไปถึงยานพาหนะสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถแท็กซี่ รถไฟ เรือ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ไม่เว้นแม้แต่ สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ป้ายรถเมล์ ท่าเรือ สนามบิน หรือแม้แต่จุดจอดวินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ล้วนเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งสิ้น

นอกจากนี้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พศ.2560 ยังเพิ่มหน้าที่ให้เจ้าของ หรือคนที่มีหน้าที่ดูแลสถานที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ ต้องควบคุม ห้ามปราม ประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในสถานที่ที่ตนเองดูแล หากละเลยไม่ทำหน้าที่เหล่านั้น มีโทษปรับสูงสุด 3,000 บาท

ขณะที่คนฝ่าฝืนสูบในเขตปลอดบุหรี่มีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท

แล้วที่ทางของคนสูบบุหรี่อยู่ที่ไหน ประเด็นนี้ก็มีคนเข้าใจผิดอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

โดยกฎหมายได้กำหนดลักษณะของ “เขตสูบบุหรี่” เพื่อไม่ให้ควันบุหรี่ไปรบกวนคนไม่สูบบุหรี่ เอาไว้ดังนี้

1.เขตสูบบุหรี่ ต้องไม่อยู่บริเวณทางเข้าออก ของสถานที่นั้นๆ และต้องไม่อยู่บริเวณที่เปิดเผยเห็นได้ชัด

2.เขตสูบบุหรี่ ต้องถูกจัดให้อยู่เป็นสัดเป็นส่วน มีการระบายอากาศที่เหมาะสม นอกจากนั้นแล้วต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญของคนอื่น

3.เขตสูบบุหรี่ ต้องติดแสดงสื่อรณรงค์ เพื่อการลด ละ เลิกสูบบุหรี่

และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข http://btc.ddc.moph.go.th หรือ โทรสอบถามได้ที่ โทร 02 580 9264

หรือในกรณีที่พบผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ให้เข้ามาดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที

จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้วางแนวทางเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ไว้อย่างละเอียด แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด คือการตระหนักว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราไม่อาจอยู่ตัวคนเดียวได้ การปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้หมายถึงการถูกบังคับให้ทำ แต่หมายถึงการยอมรับ การเข้าอกเข้าใจคนอื่น และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีความสุขอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม