ร่วมใจลดฝุ่น PM2.5

ชุมชน สังคม

บทความรณรงค์ ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 คืออะไร

ร่วมใจลดฝุ่น PM2.5

บทความรณรงค์ โครงการร่วมใจลดฝุ่น PM2.5

คัดลอก URL

คัดลอก Embed Code
ป้ายกำกับ : ฝุ่น, PM2.5, ฝุ่นPM2.5, เผา, รถยนต์, ร่วมใจลดฝุ่น PM2.5, PM2.5แก้ได้จากทุกคน, ฤดูกาล, หน้ากาก , หน้ากากกันฝุ่น, สุขภาพ , ร่างกาย
25 มีนาคม 2565

รู้ไหม ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด และปริมาณฝุ่นเหล่านี้ก็มีความสัมพันธ์กับอาการกำเริบของโรคเรื้อรังหรือเฉียบพลันหลายชนิด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของคนไทย 

 

ฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กเกินกว่าระบบป้องกันของทางเดินหายใจส่วนบนของร่างกายจะดักจับได้ จึงสามารถผ่านไปจนถึงถุงลมที่อยู่ลึกเข้าไปในปอด และก่อให้เกิดปัญหากับระบบทางเดินหายใจ ขนาดที่เล็กมากทำให้ฝุ่นสามารถผ่านจากถุงลมไปยังกระแสเลือดได้โดยตรง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อปอด หัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้การได้รับฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องยังมีความสัมพันธ์กับอายุขัยเฉลี่ยที่ลดลงของประชากร และมีผลต่อน้ำหนักของทารกแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์

โดยทั่วไปความผันแปรของระดับ PM2.5 สัมพันธ์กับระดับของการพัฒนาเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม การขนส่ง และการเกษตรที่มีการเผาชีวมวล ตลอดจนปฏิกิริยาเคมีในชั้นบรรยากาศภายใต้สภาวะอุตุนิยมวิทยาบางประการ ดังนั้นถ้าจะแบ่งต้นกำเนิดของฝุ่น PM2.5 อาจทำได้ดังนี้

1.การจราจรและขนส่ง เป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ

2.การเผาในที่โล่ง ได้แก่ การเผาไร่ การเผาวัสดุทางการเกษตร  ซึ่งรวมไปถึงการเผาไหม้ทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ก่อให้มลพิษข้ามแดน

3.ภาคประชาชน กิจกรรมการเผาในชีวิตประจำวันบางประเภท ไม่ว่าจะเป็น สูบบุหรี่ ปิ้งย่าง โดยเฉพาะในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีส่วนทั้งสิ้น

4.ภาคอุตสาหกรรม ในความเป็นจริงโรงงานต่างๆ จะต้องมีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก อย่างไรก็ตามก็ยังมีที่ ๆ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมลภาวะทางอากาศ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดการสะสมฝุ่น PM2.5 ได้แก่

1.สภาพภูมิอากาศ ในฤดูหนาวที่อากาศปิด ชั้นความเย็นถูกกักอยู่ภายใต้ชั้นความร้อน กักฝุ่นไม่ให้ลอยสูงและกระจายตัว

2.สภาพภูมิประเทศ เช่น พื้นที่แอ่งกระทะจะไม่เอื้อต่อการเจือจางมลพิษ

3.ปริมาณพื้นที่สีเขียว การพัฒนาทางเศรษฐกิจอาจก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติซึ่งผลต่อสภาพอากาศ รวมไปถึงการก่อสร้างอาคารและตึกสูงที่เข้ามาแทนพื้นที่สีเขียวก็มีส่วนในการปิดกั้นอากาศไม่ให้ระบาย ก่อให้เกิดการสะสมฝุ่น

นอกจากกระบวนการทางธรรมชาติและกิจกรรมการเผาของมนุษย์ที่มีส่วนเพิ่มระดับการสะสมของฝุ่น PM2.5 พฤติกรรมที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการสัมผัสมลพิษทางอากาศ ก็ส่งผลทางด้านสุขภาพด้วยอีกด้วย เช่น การใช้หน้ากากผิดประเภท การออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 มีปริมาณสูง  ก็จะเพิ่มโอกาสในการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ

การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้นไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มาเรียนรู้ เข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อรักษาอากาศดีให้เป็นสมบัติของเราทุกคน