ชุมชนสุขภาพดี จุดเร่ิมต้นของสังคมคุณภาพ

แต่ก็มักจะมีคำถามเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งว่า แล้วอะไรล่ะ คือคำนิยามของสุขภาพที่ดี?  เราจะรู้ได้อย่างไรว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรานั้น นำพาไปสู่การมีสุขภาพที่ดีได้จริงหรือไม่ 


หากจะพูดถึงกุญแจสู่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สุขภาพ คือหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม  เพราะเมื่อเรามีสุขภาพที่ดีแล้ว เราก็จะมีพลัง และแรงกระตุ้นในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น  

แต่ก็มักจะมีคำถามเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งว่า แล้วอะไรล่ะ คือคำนิยามของสุขภาพที่ดี?  เราจะรู้ได้อย่างไรว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรานั้น นำพาไปสู่การมีสุขภาพที่ดีได้จริงหรือไม่ 

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดคำนิยามของคำว่า Health หรือ สุขภาพ ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 ว่า “สุขภาพ คือสภาวะความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และชีวิตในสังคมที่เป็นสุข ไม่ใช่แค่การไม่มีโรคหรือความบกพร่อง” 

เมื่อเป็นเช่นนี้  เราจึงจำเป็นต้องหาทางป้องกันร่างกายจากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคด้วย เพราะถ้าจะว่ากันตามจริง การป้องกันโรคนั้นได้ผลดี และประหยัดกว่าการรักษาหลายเท่า

ซึ่งวิธีการส่งเสริมปัจจัยเชิงบวกที่มีผลต่อร่างกายให้ดีขึ้น และแข็งแรงขึ้นนั้น เราเรียกกันว่า “การส่งเสริมสุขภาพ” โดยสามารถทำได้ทั้งในระดับเล็ก เช่น ตนเอง และครอบครัว  ไปจนถึงระดับใหญ่อย่างโรงเรียน จังหวัด และทั่วประเทศ

ลำพังการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง ปลอดภัยอยู่เสมอนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่ถ้าอยากทำให้สุขภาพแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน อาจต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมรอบตัวเข้ามาช่วย จึงเป็นที่มาของแนวคิด “ชุมชนสุขภาพดี” 

ชุมชนสุขภาพดี คือสังคมที่ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การทำลายสุขภาพ ทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยเกิดจากความร่วมมือของทั้งผู้นำชุมชน และสมาชิกในชุมชนเอง 

คำถามคือ  แล้วจะทำอย่างไร ให้ชุมชนของตนเอง กลายเป็นชุมชนสุขภาพดีบ้าง?     

คำถามนี้ไม่ยากเลย ชุมชนที่มีสุขภาพดีนั้น สามารถทำได้จริง และง่ายกว่าที่เราคิด เพียงแต่อาจจะต้องอาศัยความเข้าใจของคนในชุมชนเป็นจุดเริ่มต้น  โดยอาจแบ่งวิธีการสร้างชุมชนคุณภาพได้ตามหมวดหมู่ต่างๆ ดังนี้

1.ดูแลพื้นที่อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อม  สภาพอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ และความแห้งแล้ง มีผลต่อสุขภาพของเราทั้งนั้น  โดยปกติแล้ว คนที่เกิดในแถบร้อนชื้น  จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคติดต่อค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็น โรคทางเดินอาหาร ไข้หวัด ไข้เลือดออก หรือแม้แต่โรคที่เกิดจากสัตว์ เพราะฉะนั้น ในชุมชนจึงควรหันมาใส่ใจกับที่อยู่อาศัยให้มีความเรียบร้อย เป็นสัดส่วน  และปรับปรุงดูแลให้มีความสะอาดอยู่เสมอ

 

 

2.สร้างเสริมอาชีพ และเพิ่มรายได้ในชุมชน ข้อนี้ดูเผินๆ อาจจะไม่เกี่ยว แต่จริงๆ แล้วมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะได้มีการสำรวจแล้วว่า ชุมชนใดก็ตาม ที่สมาชิกมีรายได้เพียงพอ จะมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายกว่าคนที่มีรายได้น้อย ที่สำคัญ หากในชุมชนสามารถสร้างเงินทุนสะสมเก็บไว้เป็นกองกลาง ก็จะมีโอกาสนำเงินเหล่านั้นไปพัฒนาด้านสาธารณสุขได้อีกตามลำดับ

3.ให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ ความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองและป้องกันโรค เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คนในชุมชนสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองจากอันตรายรอบตัวได้ ที่สำคัญ ยังอาจทำให้สมาชิกในชุมชนเกิดไอเดียใหม่ๆ ในการปรับปรุงชุมชนของตนเองให้ดีขึ้น 

4.ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว และชุมชน ความขัดแย้ง และการทะเลาะเบาะแว้ง เป็นที่มาของความเครียด ซึ่งความเครียดทำให้เกิดโรคร้ายได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคทางกาย หรือทางใจ นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อีกหลายชนิด ดังนั้น แต่ละชุมชนอาจรณรงค์ หรือจัดกิจกรรมให้สมาชิกได้ใช้เวลาร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดี นำไปสู่ร่างกายที่แข็งแรงและสดใสต่อไป 

5.ป้องกันชุมชนจากเหล้า และสิ่งเสพติด อย่างที่รู้กันดีว่า เหล้า บุหรี่ และสิ่งเสพติด เป็นบ่อเกิดแห่งอันตรายทั้งปวง โดยหากมองแค่ตัวบุคคล สารเสพติดเหล่านี้ต่างทำให้ร่างกายของผู้เสพทรุดโทรม สติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วน และอาจเป็นโรคร้ายแรงถึงแก่ชีวิต ส่วนในระดับที่ใหญ่ขึ้น อาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ และอาชญากรรมมากมาย เพราะฉะนั้น ถ้าชุมชนใดสามารถลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยตัดปัญหาก้อนใหญ่ออกไปได้อย่างสบายใจ 

การมีสุขภาพที่ดี ไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย ฉีดวัคซีน หรือละเว้นสิ่งเสพติดเท่านั้น แต่คือการสร้างภูมิคุ้มกัน และลดปัจจัยเสี่ยงในด้านลบ ซึ่งสุขภาพที่ดี ไม่ใช่เรื่องยาก หากแต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น และตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง

เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้  ชีวิตที่มีคุณภาพ รอเราอยู่ ☺


1,769
คัดลอก URL