หากวันนี้ใครมีอายุ 30 ปีขึ้นไป อาจมีความทรงจำเกี่ยวกับบุหรี่ที่แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
ย้อนไปเพียงไม่กี่สิบปีเราเคยนั่งดูภาพยนตร์ในโรงที่สูบบุหรี่ได้ นั่งรถเมล์ที่สูบบุหรี่ได้ รวมถึงนั่งเครื่องบินที่สูบบุหรี่ได้
เพราะบุหรี่เคยเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับใคร
จนกระทั่งสังคมเริ่มรับรู้ว่า ผลกระทบของการสูบบุหรี่ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนสูบเท่านั้น
พิษภัยจากควันบุหรี่มือสอง หรือควันบุหรี่มือสามเป็นสิ่งที่สังคมตระหนักชัดมากขึ้นเรื่อยๆ
หรืออย่างอุบัติเหตุสะเทือนใจในปี 2516 ที่เครื่องบินจากบราซิลไปฝรั่งเศส เกิดไฟลุกไหม้ในห้องผู้โดยสาร ทำให้นักบินต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉิน แรงกระแทกทำให้คนเสียชีวิต 123 คน ผลการตรวจสอบ พบว่า ต้นเหตุเกิดจากมีคนแอบสูบบุหรี่ในห้องน้ำ และทิ้งก้นบุหรี่ลงในชักโครก
การสูบบุหรี่จึงกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเกี่ยวข้อง สังคมต้องร่วมกำหนดพฤติกรรม และพื้นที่ในการสูบ
สำหรับประเทศไทย การสูบบุหรี่เริ่มเป็นเรื่องส่วนรวมตั้งแต่ พ.ศ.2517 ที่มีการตีพิมพ์คำเตือนบนซองบุหรี่ "การสูบบุหรี่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ"
จวบจนปัจจุบันการเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ได้ตอกย้ำว่า บุหรี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุกคน
ลองมาดูกันว่าเพราะอะไร ...
เกี่ยวแน่นอน ถ้าคุณอายุไม่เกิน 20 ปี หรือมีญาติพี่น้องอายุไม่เกิน 20 ปี
ข้อห้ามการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มาจากผลวิจัยที่พบว่า การเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่เด็ก จะทำให้มีโอกาสเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต และเลิกยากมากกว่าคนที่เริ่มสูบตอนโต หากฝ่าฝืนขายมีโทษจำคุกสูงสุด 3 เดือน ปรับสูงสุด 30,000บาท รวมถึงการห้ามแบ่งขายบุหรี่ เพราะพบว่าการแบ่งขายบุหรี่เป็นมวนๆ ทำให้ราคาขายบุหรี่ถูกลง ส่งผลให้เด็กๆสามารถเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายเช่นกัน หากใครฝ่าฝืนแบ่งขายบุหรี่มีโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท
เกี่ยวแน่นอน ถ้าคุณเคยเจอสถานที่ต่อไปนี้มีร้านขายบุหรี่
วัด สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทุกศาสนา สถานพยาบาล โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา สถานศึกษาทุกระดับ สวนสาธารณะ สวนสนุก สวนน้ำ หรือสวนสัตว์เป็นที่ ๆ ใคร ๆ ก็สามารถเข้าไปใช้บริการ เมื่อมีใครในบริเวณนั้นสูบบุหรี่ ควันบุหรี่มือสองที่จะส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง จากการวิจัยพบว่า ในบรรยากาศที่มีควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ 20 มวน จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน โดยเฉพาะในเด็กทารกที่ได้รับควันบุหรี่มือสองตั้งแต่อยู่ในครรภ์อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรืออาการไหลตายกะทันหันในเด็กทารกช่วงขวบปีแรก ดังนั้นหากมีการฝ่าฝืนขายบุหรี่ในสถานที่ห้ามขายข้างต้น มีกำหนดโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท
เกี่ยวแน่นอน ถ้าคุณเคยเจอคนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่
ที่ผ่านมาหากเจอคนสูบบุหรี่ในร้านอาหาร ตลาด หรือสถานีขนส่งต่างๆ คุณอาจไม่รู้ว่าควรต้องทำอย่างไร แต่ในพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบสถานที่เหล่านั้น มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน และควบคุมไม่ให้มีการสูบบุหรี่ ดังนั้นคุณสามารถเดินเข้าไปบอกพวกเขาให้จัดการตามกฎหมายได้ หากไม่ทำ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบสถานที่นั้นมีโทษปรับสูงสุด 3,000 บาท ส่วนคนที่ฝ่าฝืนสูบมีโทษปรับสูงสุด 5,000บาท
และสุดท้าย เกี่ยวแน่นอน ถ้าคุณพบเจอใครไม่ปฏิบัติตาม สามารถโทร. 191 แจ้งตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายได้
เห็นหรือยังว่า พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ฉบับใหม่เกี่ยวกับคุณมากขนาดนี้ มาร่วมกันปฏิบัติตามกฎหมาย สอดส่อง ดูแล เป็นหูเป็นตา เพื่อสร้างสังคมไทยปลอดภัยบุหรี่กันดีกว่า