มารู้จักการแข่งวิ่ง 5 ประเภท ก่อนถึงวันจริง! วิ่งสู่ชีวิตใหม่

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับงาน วิ่งสู่ชีวิตใหม่ THAI HEALTH DAY 10K RUN 2015 จัดขึ้น ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2558 เวลา 05.00 - 08.00 น.


มีเส้นทางการวิ่ง 3 ระดับ คือ 10 กิโลเมตร 5 กิโลเมตร และ 3 กิโลเมตร เป้าหมายหลักคือต้องการให้คนมาออกกำลังกาย และเร่ิมรู้จักการเดิน-วิ่ง มาราธอนกันมากขึ้น สุดท้ายแล้วเราอาจ ‘เปลี่ยนชีวิต’ ได้ จากการวิ่งมาราธอน เหมือนที่ นักวิ่งชาวเม็กซิโก Emil Zatopek เคยกล่าวไว้ว่า “if you want to run, run a mile. if you want to experience a difference life, run a marathon.” 

    “ถ้าคุณอยากวิ่ง คุณวิ่งกิโลฯ เดียวก็พอ แต่ถ้าคุณอยากพบชีวิตใหม่ คุณค่อยมาวิ่งมาราธอน”

    เพราะการวิ่งมาราธอนนั้น ต้องผ่านการฝึกฝน ฝึกซ้อม เตรียมร่างกายมาอย่างดี กว่าจะวิ่งได้ถึงระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ยิ่งช่วงกิโลเมตรที่ 30 ที่เขาว่ากันว่า เป็นหลักกิโลฯ ปีศาจ ที่หลายคนยอมแพ้ ถอดใจไม่วิ่งต่อ การวิ่งมาราธอนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถมนุษย์ 

    ก่อนจะไปถึงจุดนั้น หลายคนอาจยังสงสัยว่า การวิ่งมาราธอนมีแบบไหนบ้าง ถ้าเรายังไม่พร้อมถึงระยะทางยาวไกลขนาดนั้น เราสามารถเร่ิมต้นได้ตรงจุดไหน การแข่งขันวิ่ง แบ่งออกหลักๆ 5 ประเภท เรียงจากสบายๆ ไปเข้มข้นดังนี้ 

1.ฟันรัน (Fun run)

    หรือที่มักเรียกกันว่า เดิน-วิ่งเพื่อการกุศล ระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร เหมาะสำหรับผู้เร่ิมต้นออกกำลังกาย การวิ่งระยะทางเท่านี้ ร่างกายจะยังไม่เหนื่อยล้ามาก แต่รู้สึกสนุกสนานมากกว่า สมกับชื่อ Fun run  โดยมากมักวิ่งเหยาะๆ พักเดิน หยุดกินน้ำ พูดคุยกับคนที่ร่วมวิ่งด้วยกัน ถือเป็นการวิ่งในระดับ Beginner

2.มินิ มาราธอน (Mini marathon)

    เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างมาก สำหรับผู้ที่กำลังจะเข้าสู่การวิ่งมาราธอน เหมือนเป็นสนามซ้อมก่อนเอาจริง ระยะทางอยู่ที่ 10 กิโลเมตร นิยมกันมากในหมู่นักวิ่งเพื่อสุขภาพ เพราะระยะทางกำลังดี ไม่น้อยไม่มากจนเกินไป เหนื่อยได้ที่ นักกีฬาที่ฝึกซ้อมเป็นประจำ หรือร่างกายอยู่ตัวแล้ว สามารถวิ่งมินิมาราธอนทุกวัน ส่งเสริมกล้ามเนื้อ และสุขภาพปอดได้อย่างดีเยี่ยม

3.ฮาล์ฟ มาราธอน (Half marathon)

    เร่ิมขยับเข้าใกล้ของจริงแล้ว นี่คือครึ่งทางของมาราธอน ระยะทาง 21.1 กิโลเมตร นักวิ่งที่เคยผ่านหลายๆ สนาม จะใช้ฮาล์ฟ มาราธอน เป็นตัวทดสอบตัวเองก่อนลงสนามจริง ถือว่าโหดเอาการ สำหรับนักวิ่งมือใหม่ เพราะนักวิ่งมืออาชีพเตรียมร่างกายก่อนวิ่ง Half marathon มากว่า 10 สัปดาห์ ก่อนวิ่งจริง

4.มาราธอน (Marathon)

    หลายคนสงสัยว่าทำไมระยะทางมาราธอน ต้องเป็น 42.195 กิโลเมตร ทำไมไม่เป็นเลขกลมๆ ลงท้าย หลายตำนานบอกแตกต่างกันไป แต่มีจุดร่วมหนึ่งคือ การวิ่งมาราธอนนั้น กำเนิดมาจากการวิ่งไปบอกข่าวสงคราม โดยนักวิ่งชื่อ ‘ฟิดิปปิดีส’ ต้องวิ่งผ่านที่ราบ ‘มาราธอน’ จนถึงกรุงเอเธนส์ บ้างก็ว่า วิ่งเป็นระยะทาง 42.195 กิโลเมตร แต่บางตำนานก็บอกว่า วิ่งเพียง 36.75 กิโลเมตร โอลิมปิดครั้งแรกจึงกำหนดให้วิ่ง 40 กิโลเมตร แต่มาเปลี่ยนเมื่อโอลิมปิกครั้งที่ 4 เพื่อให้กษัตริย์อังกฤษทอดพระเนตรเห็นได้ชัดขึ้นจึงต้องเลื่อนจุดสตาร์ท 

    อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าตำนานจะเป็นแบบไหน แต่แก่นของมาราธอนคือการวิ่งที่ต้องใช้ความอดทน มุ่งมั่น ตั้งใจอย่างมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะเข้าเส้นชัยในระยะทางเท่านี้ ทั้งนักวิ่งอาชีพและนักวิ่งสมัครเล่นจำเป็นต้องฝึกซ้อม และควรผ่านการตรวจสุขภาพมาก่อน ร่วมแข่งขันวิ่งมาราธอน ถือเป็นระยะทางมาตรฐานที่ใช้ทั่วโลก และใช้แข่งขันในกีฬาโอลิมปิกด้วย 

5.อัลตร้า มาราธอน (Ultra marathon)

    เรียกได้ว่าเป็นขั้น Advance ของการวิ่งมาราธอน ระยะทางเกินกว่า 42.195 กิโลเมตร เหมาะสำหรับคนที่เอาชนะการวิ่งมาราอนมาแล้ว อยากขยับตัวเองไปสู่เส้นทางที่ไกลกว่า พัฒนาศักยภาพตัวเองให้สูงขึ้น หรือท้าทายขีดจำกัดร่างกายของตัวเอง นักวิ่งอัลตร้า มาราธอน ส่วนใหญ่มักเป็นผู็แข็งแกร่ง ผ่านสนามวิ่งมาอย่างโชกโชน เป็นการแข่งขันที่คัดเอาคนระดับสุดยอดมารวมกัน ไม่แนะนำสำหรับผู้หัดวิ่งใหม่ๆ 

 

หมดไปแล้วกับการแข่งขันวิ่ง 5 ประเภท ไม่ว่าเราจะเหมาะกับประเภทไหนก็ตาม สิ่งที่ดีคือเราเร่ิมหันมาสนใจสุขภาพตัวเองกันแล้ว หรือแม้แต่คนที่คิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับการวิ่งเลย ลองออกมาเดินเล่นหน้าบ้านตอนเย็นๆ อาจจะอยาก ‘เดินเร็ว’ ขึ้นบ้าง ถ้าอากาศดี


1,807
คัดลอก URL